อัปเดตล่าสุดเมื่อ:2022-03-06 00:00:00
ผู้แต่ง : ทิฟต์, บรูซ
สำนักพิมพ์ : ปลากระโดด
ปีพิมพ์ : 2564
พิมพ์ครั้งที่: 1
หนังสือชื่อ Already Free: เธอคืออิสรภาพ ผสมผสานแนวทางการปลดปล่อย (liberation) ผ่านสองมุมมองคือมุมมองพัฒนาการ (Developmental View) หรือจิตบำบัดจากตะวันตก และมุมมองแบบยอมรับผล (Fruitational View) หรือพุทธศาสนาจากตะวันออก สองแนวทางที่ดูเผินๆ อาจเหมือนไม่ลงรอยกัน หากแท้จริงแล้วช่วยเผยพร้อมอุดจุดบอด ส่งเสริมกันได้ เป็นความแตกต่างที่สร้างแรงเสียดทาน ความ ‘ไม่มีวันประสานกันได้’ (ทิฟต์ใช้คำว่า unresolvable) ยิ่งทำให้บทสนทนาระหว่างสองมุมมองน่าสนใจ ในขณะที่มุมมองพัฒนาการตามพื้นฐานวัฒนธรรมตะวันตกเชื่อว่า คุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเกิดขึ้นได้จากการพัฒนาตัวตนและสถานการณ์ในชีวิตให้ดีกว่าเดิม ในมุมมองนี้ การสืบค้นไปยังเรื่องเล่าในอดีตเป็นหนึ่งในหนทางการทำความเข้าใจการเกิดขึ้นของสิ่งที่ถูกมองว่าเป็น ‘ปัญหา’ ในชีวิต สืบค้นเพื่อวินิจฉัย เพื่อแก้ไข ทำให้ชีวิต ‘ดีขึ้น’ ต่อไป ไม่แปลกที่มุมมองนี้ก่อให้เกิดความก้าวหน้าในโลกตะวันตกมากมาย อิทธิพลของมุมมองนี้ที่ส่งผลให้ผู้คนมุ่งพัฒนาสุขภาพ การเงิน ความสัมพันธ์ ฯลฯ ถึงกระนั้น ไม่แปลกเช่นกัน ที่เรามักได้ยินกันอยู่เสมอว่าผู้คนมักรู้สึกว่างเปล่า ยิ่งเติมเท่าไร ยิ่งไม่เต็ม ความย้อนแย้งของมุมมองนี้ที่มุ่งแก้ไขปัญหา สร้างปัจจัยต่างๆ เพื่อให้เกิดอิสรภาพ กลับเป็นแนวทางที่ไม่เป็น ‘อิสระ’ ในตัวเอง เมื่ออิสรภาพที่ว่านั้นล้วนขึ้นอยู่กับผลรวมของหลายปัจจัยภายนอก อิสรภาพในแนวทางนี้จึงมีความไม่แน่นอน มีเงื่อนไข (conditional) ในการที่อิสรภาพจะ ‘เกิดขึ้น’ ได้ ในทางตรงกันข้าม มุมมองแบบยอมรับผลที่ได้รับอิทธิพลจากพุทธฟากตะวันออกมองว่า “อิสรภาพไม่ได้เกิดจากการมีชีวิตที่สมปรารถนาหรือมีสภาวะจิตอย่างที่ต้องการ แต่มาจากความยินยอมพร้อมใจที่จะอยู่กับตัวเองและเต็มที่กับทุกประสบการณ์ชีวิตให้ได้ ไม่ว่าสถานการณ์นั้นจะเป็นอะไรก็ตาม” ในมุมมองนี้ อิสรภาพไม่ใช่สภาวะใดที่ต้องไปถึง หรือทำให้เกิดขึ้น ไม่ใช่สถานการณ์ที่เป็น (what) หากคือ ท่าที (how) ของการสัมพันธ์กับประสบการณ์ที่เกิดขึ้นตามที่มันเป็นเช่นนั้น อิสรภาพในมุมมองนี้ “ไม่ใช่เรื่องของทุกข์หรือความสุข ทว่าเป็นความยินดีและความสามารถที่จะสัมพันธ์อย่างเต็มที่กับความรู้สึกที่เกิดขึ้น” การนำมุมมองทั้งสองที่ผู้เขียนถูกฝึกฝนมาทั้งสองแนวทางมาเทียบเคียงกันเช่นนี้ ไม่ใช่เพื่อตัดสินว่าสิ่งใดดีกว่า ถูกต้องกว่า หากเพื่อเชื้อเชิญให้เกิดบทสนทนา เปรียบเทียบให้เห็นความต่าง จนเริ่มเห็นว่าแม้จะขัดแย้งกันในแนวทาง แต่กลับมีบางอย่างที่ส่งเสริม เติมเต็มกันและกัน ไม่ต่างจากธรรมชาติของประสบการณ์ใดในชีวิตนี้ที่ล้วนเป็นเชิงสัมพัทธ์ (relative) และมันยากที่เราจะรับรู้ถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยปราศจากขั้วตรงข้ามให้ความเป็นสิ่งนั้นปรากฏขึ้นได้เลย .